วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เริ่มสนทนาอย่างไรให้ดูดี

เคยไหม เวลาพบใครครั้งแรก ไม่ว่าจะในงานปาตี้ ที่ทำงานใหม่ หรือฟิตเนส แล้วเกิดอาการประหม่า นึกไม่ออกว่า จะพูดอะไร เทคนิคต่อไปนี้ช่วยให้เริ่มต้นบทสนทนาได้มั่นใจขึ้น

1.เตียมพร้อมเสมอ
  • หากอยากให้บทสนทนาน่าสนใจ ต้องเริ่มจากทำตัวให้น่าสนใจก่อน ติดตามข้อมูลข่าวสารรอบตัวและเตรียมหัวข้อให้ดี ไว้ในหัวสักเรื่องสองเรื่อง
  • ไม่ต้องพะวงว่าคุณรู้สึกประหม่าแค่ไหน นึกถึงแต่ประเด็นที่สนใจพูดคุย และอย่ากลัวที่จะถามคำถาม เพราะโดยธรรมชาติคนเรามักชอบพูดถึงตัวเองและพร้อมให้คำตอบ ถ้าคำถามนั้นฟังดูจริงใจและเป็นมิตร
  • ฝึกเป็นนักฟังที่ดี ตั้งใจฟังผู้อื่น ตอบรับด้วยการยิ้ม หัวเราะ พยักหน้า และสบตา สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการเมื่อสนทนากับใครสักคนคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างสนุกสนาน ไม่ใช่ฟังอีกฝ่ายพูดอยู่คนเดียว การเป็นนักฟังที่ดีนอกจากแสดงถึงมารยาท ยังเปิดโอกาสใหคุณโต้ตอบเพื่อดำเนินการสนทนาต่อไป
  • ทักทายผู้อื่นด้วยรอยยิ้มและสบตา บางคนอาจคิดว่ายากแต่ความมั่นใจในตนเองสามารถฝึกฝนกันได้
2.เริ่มอย่างฉลาด
สาเหตุหลักที่ทำให้คนไม่กล้าเริ่มสนทนาเกิดจากความกลัว เช่น"กลัวสวัสดีแล้วเขาไม่สวัสดีตอบ" "กลัวเขาไม่อยากคุยกับเรา" หรือ "กลัวพูดอะไรโง่ๆ ออกไป" การฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยให้ความกลัวหายไปเองและเกิดทักษะมากขึ้น
  • กล้าๆหน่อย : อย่าปล่อยให้ความกลัวปิดกั้นโอกาสในการผูกมิตรกับผู้อื่น ถึงจะโดนปฏิเสธบ้าง ก็อย่าคิดมาก
  • เป็นฝ่ายรุก : ไม่ต้องรอให้ใครพูดกับคุณก่อน ลุยไปเลย เริ่มต้น จากการกล่าวสวัสดีแล้วแนะนำตัว
  • เตรียมหัวข้อสนทนา : ถ้าไม่รู้จะเริ่มคุยอะไร สามหัวข้อที่คนส่วนใหญ่มักคุยกันได้สะดวกใจ คือ อาชีพ กิจกรรมยามว่างและการศึกษา
  • ร่วมวงสนทนา : ถ้ายังหาจังหวะเริ่มต้นไม่ได้ ลองฟังว่าคนอื่นเขาพูดเรื่องอะไรกัน หากมีหัวข้อไหนที่คุณสนใจหรือมีความรู้เป็นพิเศษ อย่ารอช้า รีบร่วมวงด้วยทันที
3.ถามคำถามเปิด
คำถามง่ายๆ สั้นๆ จะช่วยให้คุณลดความเก้อเขินได้เยอะบทสนทนาที่ดีควรเริ่มจากคำถามเปิดอย่าง ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพราะจะได้คำตอบที่กว้างและเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยซักถาม เพื่อโยงไปสู่ประเด็นอื่นๆต่อไป เช่น "ทำงานเกี่ยวกับอะไรคครับ" "ปกติเวลาว่างผมชอบอ่านนิยายแนวสอบสวน คุณล่ะครับ" พยายาม เลี่ยงคำถามปิดซึ่งตอบได้แค่ "ใช่" หรือ "ไม่ใช่" เพราะอาจทำเอาคุณอึ้งด้วยไม่รู้ว่าจะคุยอะไรต่อ
หากคุณรู้จักคนคนนั้นมากขึ้นแล้ว อาจลองใช้คำถามเปิดที่ลึกมากขึ้น เช่น อย่างไร ทำไม แต่ต้องเป็นคนที่น่าสนใจจริงๆ และมีท่าทียินดีตอบคำถามของคุณ
การฝึกฝนทักษะนี้บ่อยๆจนชำนาญและกลายเป็นนิสัยประจำตัวจะทำให้คุณเกิดความนับถือและรู้สึกมั่นใจในตนเองยิ่งขึ้น ทีนี้ไม่ว่าต้องสนทนากับใครในสถานการณ์ใดก็ตาม คุณจะไม่ลำบากใจ อีกต่อไป


Be Careful !
  • ถ้าเพิ่งรู้จักกัน อย่าผลีผลามแสดงความเป็นกันเองเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายอึดอัด
  • อย่าพูดแต่เรื่องของตัวเอง เรื่องไร้สาระ หรือพูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับหัวข้อสนทนา
  • อย่าพูดแทรกในขณะคนอื่นกำลังพูด
  • ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่ากอดอกขณะคุย เพราะอาจสื่อความหมายได้ว่า คุณเป็นพวกปกป้องตัวเอง ใจแคบ และขี้ระแวง ทำให้คนไม่อยากคุยกับคุณ